ได้มีโอกาสอ่านเปเปอร์รีวิวเรื่องการกลืน Button Battery (ถ่านกระดุม) เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ถ่านกระดุม เป็นถ่านขนาดเล็กที่นิยมใช้ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์หลายชนิดในปัจจุบัน เราสามารถพบถ่านชนิดนี้ได้หลายที่ ที่ๆ พบบ่อยก็คือเครื่องช่วยฟัง, รีโมทคอนโทรล, ของเล่น, นาฬิกา, เทียนอิเลคทรอนิกส์, เครื่องชั่งน้ำหนัก, กุญแจรีโมท นอกเหนือไปจากนี้ ที่ๆ ยังอาจจะพบได้ก็เช่น ไฟฉาย, เครื่องคิดเลข, เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด, เทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล, เครื่องเล่นเพลง และกล้องถ่ายรูป
ปัญหาของการกลืนกินถ่านกระดุมนั้นไม่ได้อยู่ที่สารที่อยู่ในถ่านกระดุมโดยตรง หากแต่เป็นปัญหาของกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะถ่านกระดุมที่เป็นถ่านลิเธียม เนื่องจากถ่านชนิดนี้มักมีความต่างศักย์สูง บริเวณขั้วลบของถ่านกระดุมเมื่อเข้าไปค้างอยู่ในเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร จะทำให้เกิดครบวงจรไฟฟ้า (หลอดอาหารมีน้ำลาย ซึ่งนำไฟฟ้า) และเกิดไอออนของไฮดรอกไซด์ (OH-) สะสมที่ผนังหลอดอาหารที่ขั้วลบ ซึ่งไอออนนี้ที่มีความเป็นเบสสูงนี่เอง จึงทำการกัดกร่อนผนังของหลอดอาหารที่ถ่านกระดุมไปติดอยู่ ทำให้เนื้อเยื่อของหลอดอาหารตาย โดยเฉพาะถ่านที่มีความต่างศักย์เหลือในตัวถ่านมากกว่า 1.2 โวลต์ในตอนกลืนทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้โดยง่าย
นอกจากนี้ถ้าถ่านกระดุมหลุดไปได้ ไม่ติดอยู่ที่เดียว ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์กัดกร่อนของเนื้อเยื่อเกิดขึ้นนี่เอง (เป็นเหตุว่าทำไมจึงไม่ต้องทำอะไรถ้าถ่านมันไม่ได้ไปติดที่ไหน อึออกมาปกติ)
เมื่อมีเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ที่เราสับสนว่ากลืนถ่านกระดุมหรือไม่ ในทางปฏิบัติแนะนำให้ทำการ X-ray เพื่อดูว่าลักษณะของภาพที่ได้เข้ากับถ่านหรือเปล่า โดยลักษณะของ X-ray ที่พบในถ่านกระดุม มักจะมี ขอบกลม (double ring or halo sign) ต่างจากเหรียญที่ไม่มีลักษณะนี้ นอกเหนือจากนี้การ X-ray ในท่า Lateral ก็อาจจะบอกได้ว่าขั้วลบของถ่าน (ขอบที่เล็กกว่าอีกด้าน) หันไปทาง Trachea หรือ Spine
ในการรักษาถ่านกระดุมติดบริเวณหลอดอาหาร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเอาออก โดยใน Guideline ฉบับปัจจุบันแนะนำให้เอาออกโดยเร็ว หากเป็นไปได้ก็ควรจะภายในสองชั่วโมง เนื่องจากถ้าเอาออกช้า อาจจะเกิดความเสียหายต่อหลอดอาหารได้มาก แนวทาง Guideline นั้นสามารถดูได้จากตัวเปเปอร์ฉบับเต็มครับ
นอกเหนือไปจากนี้ การป้องกันไม่ให้เด็กหยิบถ่านมากลืนได้โดยง่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปัจจุบันตามมาตรฐาน ANSI/UL60065 ในอุปกรณ์ที่ใช้ถ่านกระดุม การเปิดออกเพื่อเจอถ่านนั้นจะต้องอาศัยการขยับที่เปิดสองครั้ง จึงจะถึงตัวถ่าน และในสหรัฐยังมีความพยายามในการผลิตถ่านที่ต้องอยู่ในรังถ่านเท่านั้นถึงจะมีกระแสไฟฟ้าได้ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถ่านใหม่ก็จะเข้ากันไม่ได้กับรังถ่านแบบเดิมๆ ครับ
ที่มา: Jatana KR, Litovitz T, Reilly JS, Koltai PJ, Rider G, Jacobs IN. Pediatric button battery injuries: 2013 task force update. International journal of pediatric otorhinolaryngology. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0165587613002851#gr1
Button Battery Ingestion
Posted in button battery, disease, emergency, ENT, ingestion, medicine, otolaryngology, surgery
My Blogs
More About Me
(c) Copyright 2015 Pawin Numthavaj. Powered by Blogger.