หลายๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์คงไม่เข้าใจว่าที่หมอตรวจคนไข้นั้น เขาทำยังไงกัน
โดยหลักการแล้ว ขั้นตอนของการตรวจคนไข้นั้นมีอยู่ไม่กี่ขั้นตอนครับ แต่แต่ละขั้นตอนนั้นจำเป็นจะต้องละเอียดถี่ถ้วนเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ คนไหนจะตรวจเร็วตรวจช้าก็ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยกับโรคนั้นๆ อยู่ก่อน
ขั้นแรก: การซักประวัติ
การซักประวัติอาการเจ็บป่วยนั้นเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำการตรวจรักษาเลยทีเดียว ถ้าซักประวัติไม่ครบ ไม่ได้ใจความสำคัญเพียงพอ ก็จะทำให้วิเคราะห์โรคกันไปคนละทิศคนละทาง ในทางกลับกันการซักประวัติที่เยิ่นเย้อ ก็ทำให้เสียเวลาไปมากมายโดยไม่จำเป็นด้วย
ส่วนใหญ่การซักประวัติอาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลนั้นจำเป็นที่สุด ภาษาหมอเรียกว่า Cheif Complaint คืออะไรที่ทำให้คนไข้นั้นต้องรีบมาหาในวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วควรมีเพียงอาการเดียว จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้อง เช่น "เจ็บคอมา 1 เดือน" "แน่นหน้าอกมา 1 ชั่วโมง" หรือ "เหนื่อยเพลียมา 10 ปี" (อันหลังนี้เจอแล้วก็ตรวจเหนื่อยทั้งคนตรวจและคนไข้ เพราะประวัติยาวเป็นโยชน์) สังเกตว่าจะต้องมีจำนวนเวลาตามมาด้วย จะได้ทำให้มองเห็นภาพการดำเนินไปของโรคได้อย่างถูกต้อง
การที่มีหลายอาการนั้นนอกจากทำให้งงแล้วยังทำให้สับสนด้วยว่าหมอจะแก้ปัญหาอะไรให้คุณก่อน เช่น "มีอาการใจสั่น ร้อนท้อง หายใจไม่ออก คันตามเนื้อตามตัว นิ้วโป้งเท้าซ้ายกระดิกไม่ได้ เวลาลมพัดแล้วจะเจ็บหนังศีรษะ" (อันนี้เคยเจอกับตัวจริงๆ 555 ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อนเลย)
โดยทั่วไปแล้วประวัติหลักนี้จะได้รับการซักมาก่อนแล้วจากคุณพยาบาลที่ทำการคัดกรองหน้าห้องตรวจ (ที่ต้องมีพยาบาลคัดกรองนั้นเพื่อแยกเอาคนที่เป็นหนักมาตรวจก่อน เช่น เอาคนไข้เจ็บแน่นหน้าอกมาสองชั่วโมง มาตรวจก่อน คันนิ้วเท้ามาสี่ปี เป็นต้น) ดังนั้นหากคุณต้องไปโรงพยาบาลก็เตรียมประโยคบอกนี้ไปเลยครับ จะทำให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากประวัติที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจะต้องมีประวัติการรักษาที่เคยได้รับมาแล้วด้วย หลังจากนั้นคุณหมอก็จะบันทึกลงไปในประวัติ
ตัวอย่างการบันทึกแบบสั้นๆ ที่คุณหมอจะจดลงไปในเวชระเบียน
อาการสำคัญ (Cheif Complaint): เจ็บหน้าอก มา 2 ชั่วโมง
ประวัติปัจจุบัน (Present Illness):
2 ชั่วโมงก่อนมารพ. มีอาการเจ็บหน้าอกด้านซ้าย ร้าวไปที่ไหล่ มีอาการใจสั่น เป็นขณะที่กำลังออกกำลังกาย ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่สัมพันธ์กับการหายใจ
1 ชั่วโมงก่อนมารพ. อมยาอมใต้ลิ้น 1 เม็ด อมแล้วยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ตลอด จึงมาโรงพยาบาล
ประวัติอดีต (Past Illness):
มีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูง เคยตรวจพบโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันรับประทานยา Atenolol 1 เม็ดเช้า, Aspirin (80 mg) 1 เม็ดเช้า
หลังจากซักประวัติแล้วหมอก็จะพอเดาได้คร่าวๆ ว่าอาการนั้นๆ มันน่าจะมีโรคอะไรได้บ้าง
ขั้นที่สอง: ตรวจร่างกาย
หลังจากที่ซักประวัติแล้ว การตรวจร่างกายนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญพอๆ กัน โดยการตรวจร่างกายนั้นจำเป็นจะต้องทำให้ครอบคลุมอาการที่อาจเป็นไปได้ทั้งหมด การตรวจร่างกายนั้นประกอบไปด้วย การดู การเคาะ การคลำ และการฟัง เช่น การตรวจหน้าอก ก็ต้องดูก่อนว่าหน้าอกมันยุบหรือเปล่า เคาะดูว่าเคาะแล้วโปร่งหรือเปล่า คลำดูว่ามีจุดเจ็บตรงไหนไหม และใช้หูฟังฟังว่าเสียงปอดและเสียงหัวใจนั้นผิดปกติหรือไม่
อย่างไรก็ตามในบางครั้งที่ไม่มีความจำเป็น และคิดว่าตรวจหรือไม่ตรวจก็ไม่ส่งผลต่อการวิเคราะห์โรค ก็อาจข้ามการตรวจร่างกายส่วนนั้นๆ ได้
ขั้นที่สาม: วิเคราะห์โรคที่อาจเป็นไปได้
การวิเคราะห์โรคที่อาจเป็นไปได้ (Differential Diagnosis) นั้นคือการใคร่ครวญหาว่าจากอาการและการตรวจร่างกายนั้น มีโอกาสที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ทั้งประสบการณ์ของหมอ, โรคที่ชุกชุมอยู่บริเวณนั้นๆ และประวัติที่ถูกต้องจากคนไข้
ขั้นที่สี่: การตรวจเพิ่มเติม
ในกรณีที่ประวัติและตรวจร่างกายนั้นไม่เพียงพอในการวิเคราะห์แยกโรค คุณหมอก็อาจจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมอีก การตรวจเพิ่มเติมนี้รวมถึงการตรวจทางภาพถ่าย (imaging) เช่น เอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ CT MRI และพวกสแกนต่างๆ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจปัสสาวะ
การตรวจเพิ่มเติมนี้จะช่วยในการวิเคราะห์โรคต่อไปอีก
สังเกตว่า การตรวจเพิ่มเติมนี้ไม่ได้มาก่อนประวัติและตรวจร่างกาย อย่างไรก็ดี ในยุคที่ทุกคนต่างก็ต้องหา "หลักฐาน" มาป้องกันตัวเอง ทำให้หมอหลายท่านนิยมสั่งการตรวจเพิ่มเติมหลายอย่างโดยบางครั้งนั้นอาจไม่จำเป็น (บางส่วนนั้นเนื่องมาจากคนไข้บังคับก็มี)
ขั้นที่ห้า: สั่งการรักษา
โดยปกติแล้วหากวิเคราะห์โรคได้ว่าเป็นโรคอะไร ก็จะสั่งการรักษาไปตามนั้น อย่างไรก็ตามเพราะว่า "ไม่มีอะไรถูกต้อง 100% ในการแพทย์" ก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องสั่งการรักษาที่ครอบคลุมโรคที่มีโอกาสเป็นมากที่สุดไปได้เสียก่อน
คราวต่อไปหากคุณต้องมาโรงพยาบาล ก็อย่าลืมเตรียมตัวเรียบเรียงประวัติตัวเองคร่าวๆ ให้เรียบร้อย เตรียมตัวตอบคำถามให้ดี จะช่วยประหยัดเวลาขึ้นเยอะครับ
ขนาดผมอ่านที่คุณหมอเขียนยังใช้เวลามากกว่าสามนาที สงสัยจังว่าเวลาพวกหมอ ๆ เขาตรวจคนไข้เป็นร้อย ๆ คนที่โรงพยาบาล เค้าตรวจไงทัน ^^
สำหรับผมบางทีต้องใช้วิธี approach แบบอื่นประกอบด้วยเป็นบางทีครับ เนื่องจากในกรณีของคนไข้ฉุกเฉิน ต้องได้รับการช่วยชีวิต ก็เลยต้องไปใช้สูตร ABC แทนเป็นครั้งคราวครับ โดยเรียงลำดับตามความอันตรายของปัญหา แทน A = Airway, B = Breathing, C = Circulation